ตรีผลา ตอนที่ ๒

335 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตรีผลา ตอนที่ ๒

ในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์กล่าวถึง “พิกัดตรีผลา” ไว้ว่า

“อนึ่งสรรพคุณตรีผลานั้น กล่าวคือสมอไทย ๑ สมอพิเภก ๑ มะขามป้อม ๑ ทั้ง ๓ นี้ ระคนกันเข้า จึงชื่อว่าตรีผลา ถ้าผู้ใดได้บริโภคอาจระงับโรคอันบังเกิดแต่ดี แก้เสมหะแลลมในกองธาตุฤดูแลกองอายุสมุฏฐานนั้นแล”

และยังกล่าวถึง “มหาพิกัดตรีผลา” ไว้ด้วยว่า

“อันว่าตรีผลานั้น ๑ ถ้าจะแก้เสมหสมุฏฐาน เอาสมออัพยา ๔ สมอพิเภก ๘ มะขามป้อม ๑๒

๒ ถ้าจะแก้ปิตตสมุฏฐาน เอามะขามป้อม ๔ สมออัพยา ๘ สมอพิเภก ๑๒

๓ ถ้าจะแก้วาตสมุฏฐานเอาสมอพิเภก ๔ มะขามป้อม ๘ สมออัพยา ๑๒ ทั้ง ๓ นี้ ชื่อว่าพิกัดตรีผลาสมุฏฐาน”

จะเห็นได้ว่ามีวิธีใช้ที่แตกต่างกันไปตามแต่อาการของโรคที่จะรักษา ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้แค่หยิบเครื่องยามาใช้เพราะรู้รสรู้สรรพคุณ แต่ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ให้เหมาะสมทั้งปริมาณ ทั้งส่วนผสม ทั้งวิธีทำ วิธีใช้ วิธีรับประทาน

ที่ต้องใช้ผลไม้ทั้งสามอย่างนี้ก็เพราะรสของตัวยาแต่ละชนิดทำหน้าที่ประกอบกัน โดยรสเปรี้ยวเข้าไปแก้ทางเสมหะด้วยการทำให้ระบบน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้น จึงช่วยลดความร้อนจากอาการไข้ พร้อมกับขับระบายของเสียในร่างกายออกไป ส่วนรสขมช่วยให้ร่างกายเย็นขึ้นจากพิษร้อน ในขณะที่รสฝาดจะเข้าไปคุมธาตุ คือไม่ให้ถ่ายท้องมากเกินไป จึงเป็นเครื่องยาที่สุขุมพอดี ใช้ได้ปลอดภัย 

ก่อนอื่นต้องขออธิบายความแตกต่างของ “พิกัดตรีผลา” และ “มหาพิกัดตรีผลา” (อาจจะเคยเห็นสูตร เห็นวิธีทำกันมาพอสมควรแล้ว แต่หากสนใจเพียงวิธีทำก็สามารถข้ามไปอ่านตอนท้ายได้เลยค่ะ)

คำศัพท์เหล่านี้ฟังดูยุ่งยาก เป็นอุปสรรคที่ทำให้คนส่วนใหญ่เบื่อหน่ายและไม่เข้าใจการแพทย์แผนไทย แต่หากยอมทำความเข้าใจและเพียงเห็นหรือได้ยินบ่อยๆ เข้า ต่อไปก็จะเป็นเรื่องง่ายที่เราจะเลือกใช้ตำรับยาไทยของเรา เหมือนกับที่เราคุ้นเคยพูดชื่อยาฝรั่งกันคล่องแคล่วทุกวันนี้ค่ะ

“พิกัดตรีผลา” หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “ตรีผลา” นั้นใช้ตัวยาในอัตราส่วนที่เท่ากัน ซึ่งประกอบด้วย สมอพิเภก ๑ ส่วน, สมอไทย ๑ ส่วน และ มะขามป้อม ๑ ส่วน

ซึ่ง “ตรีผลา” นี้ จัดเป็นตำรับยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ มีทั้งแบบยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาแคปซูล ยาชง ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ

หากจะทำเป็นยาต้ม ก็นำสมุนไพรทั้งสามชนิด ซึ่งแบบแห้งน่าจะหาได้ง่ายกว่า โดยใช้สัดส่วนเท่ากันทั้งสามชนิด

“มหาพิกัดตรีผลา” ต่างจากตรีผลาที่สัดส่วนการใช้ตัวยาแต่ละชนิด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงแค่ “มหาพิกัดตรีผลาเสมหะสมุฏฐาน” เท่านั้น เพราะสามารถนำไปใช้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดย “มหาพิกัดตรีผลาเสมหะสมุฏฐาน” ประกอบด้วย สมอพิเภก ๘ ส่วน, สมอไทย ๔ ส่วน และ มะขามป้อม ๑๒ ส่วน

และเพราะเป็นมหาพิกัด “เสมหะสมุฏฐาน” เราจึงไม่ใช้สูตรตำรับนี้พร่ำเพรื่อค่ะ แต่จะใช้กับอาการโรคทางเสมหะ เช่น ไข้หวัด หรือไข้ที่มีเสมหะ ไอ เจ็บคอ ไข้ในฤดูหนาว เป็นต้น
กระสายยาตรีผลา

ข้อบ่งใช้ ใช้เพื่อบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ

เครื่องยา: สมอพิเภก ๑๕ กรัม, สมอไทย ๑๕ กรัม และ มะขามป้อม ๑๕ กรัม

วิธีทำ: 
- นำเครื่องยามาล้างให้สะอาด
- ใช้น้ำประมาณ ๑- ๒ ลิตร ต้มน้ำให้เดือด
- ใส่เครื่องยาลงไปต้มไฟอ่อนประมาณ ๑๕-๒๐ นาที ปิดไฟ
- รอให้ยาเย็น แล้วจึงกรอง นำไปแช่ตู้เย็นเก็บไว้รับประทานได้ประมาณ ๑ อาทิตย์

 
 วิธีรับประทาน  
- รับประทานขณะอุ่น ประมาณครั้งละ ๑๐๐ มิลลิลิตร
- แนะนำให้รับประทานเวลาท้องว่าง เช้าและเย็น
- สามารถเติมน้ำผึ้ง น้ำมะนาว ใบเตย เพื่อเสริมรสชาติได้
- อาจมีอาการถ่ายท้องสำหรับผู้ที่ท้องเสียง่าย

กระสายยามหาพิกัดตรีผลาเสมหะสมุฏฐาน

ข้อบ่งใช้ ใช้อาการโรคทางเสมหะ เช่น ไข้หวัด ไข้มีเสมหะ เจ็บคอ ไอ ไข้ในฤดูหนาว

เครื่องยา:สมอพิเภก ๓๐ กรัม, สมอไทย ๑๕ กรัม และ มะขามป้อม ๔๕ กรัม

วิธีทำ: 
- นำเครื่องยามาล้างให้สะอาด
- ใช้น้ำประมาณ ๑- ๒ ลิตร ต้มน้ำให้เดือด
- ใส่เครื่องยาลงไปต้มไฟอ่อนประมาณ ๑๕-๒๐ นาที ปิดไฟ
- รอให้ยาเย็น แล้วจึงกรอง นำไปแช่ตู้เย็นเก็บไว้รับประทานได้ประมาณ ๑ อาทิตย์

 วิธีรับประทาน 
- รับประทานขณะอุ่น ประมาณครั้งละ ๑๐๐ มิลลิลิตร
- แนะนำให้รับประทานเวลาท้องว่าง เช้าและเย็น
- สามารถเติมน้ำผึ้ง น้ำมะนาว ใบเตย เพื่อเสริมรสชาติได้
- อาจมีอาการถ่ายท้องสำหรับผู้ที่ท้องเสียง่าย
 
ทั้งนี้ไม่ว่ายาขนานใดก็ไม่แนะนำให้รับประทานติดต่อกันเป็นเวลานานค่ะ รับประทานเพียงแค่ ๓-๗ เจ็ดวัน หากอาการไม่ดีขึ้นควรต้องไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ช่วยวินิจฉัยอาการ และถ้าไม่เข้าใจหรือไม่แน่ใจอาการของตนเอง ลองขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือเภสัชกรแผนไทยดูก่อนนะคะ
 
ที่มา:

หนังสือแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์: ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ. สำนักวิชาการมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, กรุงเทพฯ ๒๕๔๗.

เภสัชกรรมไทย (ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม). กองการประกอบโรคศิลปะ, ๒๕๕๗

- ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๒๕๔ ง ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๓.

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้